พนักงานทุกท่าน ... เชื่อไหมว่าคุณเป็นบุคคลสำคัญของบริษัท หรือห้างร้าน เพราะคุณคือจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่เติมเต็มนโยบายหรือแผนงานขององค์กร สถานประกอบการต่างๆ ต้องอาศัยพนักงานที่มีความสามารถเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่สถานประกอบการนั้น ๆ ต้องการ
ที่กล่าวเช่นนี้ มิได้ให้พนักงานสำคัญตนผิดแล้วยกตนข่มใครต่อใครเขา แต่ให้รำลึกว่า เราเป็นบุคคลหนึ่งที่จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับองค์กร และเราจะได้รับความดีความชอบถ้าองค์กรประสบความสำเร็จ (ยกเว้นเสียแต่ว่าฟ้าไม่มี่ตา)
ความเสียหายนั้น อาจจะเกิดจากความประมาทของเรา หรือการวางนโยบาย และแผนงานของบริษัทผิดทิศทางไป ผลกระทบย่อมส่งถึงพนักงานอย่างเราทั้งหลายอย่างมิต้องสงสัย เช่น ถูกตำหนิ, ถูกหักเงิน, ไม่ขึ้นเงินเดือน, ได้โบนัสน้อย หรือถูกออกจากงาน
แต่ถ้าเป็นความดีความชอบ เราก็จะได้รับคำชม การยกย่องในหมู่พนักงาน หรือเจ้านายแบบภูมิใจที่มีพนักงานที่ทำความดีความชอบให้ (แม้บางทีเราก็บ่นน้อยใจว่า "ไม่เห็นความดีกันเลย" ก็ตาม)
แต่การป้องกันความเสียหายมิให้เกิดขึ้น หรืออาจจะหวังโบนัสหรือเลื่อนขั้นเงินเดือนอะไรก็ตามแต่ พนักงานอาจไม่มีส่วนในการวางนโยบาย หรือบริหารงาน เป็นเรื่องของนายหรือฝ่ายบริหารเท่านั้น แต่เราก็สามารถช่วยเหลือบริษัทของเราได้ ในฐานะที่เป็นพนักงาน นั่นคือ "การบริหารตนเอง" ตามปรัชญาพุทธท่านกล่าวถึงหน้าที่ที่พนักงานจะพึงกระทำไว้ในเรื่อง ทิศ 6 ดังนี้ :
ข้อ 1 เริ่มทำงานก่อน
ปกติสถานประกอบการต่าง ๆ จะมีกำหนดเวลาเข้าทำงาน และเวลาเลิกงาน บางวันมีทำล่วงเวลา (OT) โดยกำหนดเวลาทำงานอย่างชัดเจน บริษัทที่มีพนักงานจำนวนมาก จะใช้วิธีตอกบัตร รูดบัตร หรือเครื่องอ่านลายนิ้วมือ เพื่อลงเวลาทำงาน แต่โดยสำนึกของพนักงานที่มุ่งมั่นในการทำงาน ควรมาก่อนเวลา เพื่อ
1. เตรียมความพร้อมก่อนถึงเวลางาน
2. เตรียมงานที่จะมีการส่งมอบให้คนอื่นได้ทัน
3. ได้พักหลังจากเดินทางมาจากบ้าน
4. ได้สนทนากับเพื่อนร่วมงานก่อนเริ่มงาน
5. เจ้านายทำงานสะดวกขึ้น
ข้อ 2 เลิกงานทีหลัง
เมื่อเห็นว่าใกล้เวลาเลิกงาน ไม่ควรตั้งท่าเก็บข้าวของแล้วรอเวลาหมด ที่ควรทำคือ เวลาเลิกงานในแต่ละวัน ควรเตรียมงานที่จะทำในวันต่อไปให้พร้อมที่จะมาทำต่อได้ คือจัดการระบบการทำงานของตนเองให้ต่อเนื่อง หากตนไม่สามารถมาทำงาน นั้นในวันต่อไป ควรหาวิธีให้งานนั้นไม่สะดุด โดยการแจ้งเจ้านายและเพื่อนร่วมงานเรื่องรายละเอียดงานต่างๆ จัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้งานแล้วเข้าที่ให้เรียบร้อย หากไม่มีงานเร่งด่วนอาจเลิกหลังเวลาเลิกงานไม่น้อยกว่า 10 นาที ทั้งนี้ เพื่อให้งานในวันนั้น ๆ เรียบร้อยในวันนั้น มิให้งานคั่งค้าง
ข้อ 3 เอาแต่ของที่นายให้
ข้อนี้สำคัญมาก เป็นจริยธรรมที่สำคัญที่สุดของพนักงาน คือ "ความซื่อสัตย์สุจริต" รายได้ที่พนักงานควรได้โดยชอบธรรม คือ
1. เงินเดือน
2. ค่าล่วงเวลา
3. คอมมิสชั่น
4. โบนัส หรือ ค่าอื่นๆ เช่น ค่าพาหนะ เป็นต้น
ซึ่งเป็นรายได้ที่พนักงานพึงได้โดยชอบธรรม ไม่พึงยินดีกับเบี้ยใบ้รายทาง และงดเว้นการยักยอกทรัพย์สินบริษัท การทุจริต มิใช่เพียงการยักยอกทรัพย์สินของบริษัทเท่านั้น แต่รวมถึงการแอบนำงานส่วนตัวมาทำที่บริษัท โดยใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และเวลาของบริษัท การนำความลับของบริษัทไปเปิดเผยแก่บุคคลภายนอก หรือขายข้อมูลของบริษัทแก่บริษัทคู่แข่ง เป็นต้น พนักงานที่ดีไม่พึงกระทำโดยเด็ดขาด
ข้อ 4 ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
การทำงานปัจจุบัน พนักงานจะต้องดำเนินตามแผนงาน และนโยบายของบริษัท จัดลำดับงานเป็นขั้นเป็นตอน เรียบร้อย ต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการนำระบบบริหารองค์กรมาใช้เช่น 5 ส. 7 ส. เป็นต้น นอกจากนั้น พนักงานยังจะต้องรู้จักพัฒนาตัวเอง หาโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะหน้าที่การงานอาจไม่หยุดนิ่ง ต้องมีความรู้ให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ และฐานเงินเดือน ปกติบริษัทต่างๆ ที่มีวิสัยทัศน์ทางการบริหารงานบุคคล มักจะส่งพนักงานไปฝึกอบรมสัมมนาในโอกาสต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับงาน บางบริษัทส่งเสริมให้พนักงานได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป ซึ่งประโยชน์ที่เกิดจากการเรียนรู้จะได้รับด้วยกันทั้งสองฝ่าย บริษัทจะได้มีพนักงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ พนักงานเองก็จะได้มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน
ข้อ 5 นำความดีของนายไปเผยแผ่
"อย่านินทานาย อย่าทำลายลูกน้อง"
คือปรัชญาในการบริหารงานของพระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม) พระสงฆ์นักวิชาการแห่งภาคกลางตอนล่าง ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับสมณศักดิ์อย่างต่อเนื่องและชอบธรรม เพราะท่านยึดปฏิบัติตามปรัชญานี้มาโดยตลอด การนินทาว่าร้ายเจ้านายตนเอง คือการฆ่าตนเองโดยอ้อม เพราะเป็นการสร้างทัศนคติที่ไม่ดีต่อเจ้านายตนเอง จะส่งผลไปสู่พฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงกับเจ้านายด้วย หรืออาจจะทำให้เก้อเขิน เมื่ออยู่ต่อหน้ากัน หรือถ้าเจ้านายรู้อาจจะส่งผลต่อหน้าที่การงานด้วยเช่นกัน การนินทาว่าร้ายเจ้านายให้บุคคลอื่นฟัง อาจจะสร้างความรังเกียจให้คนอื่น บุคคลภายนอกจะมองบริษัทในทางเสียหาย และอาจจะลดความน่าเชื่อถือลงได้
สิ่งที่พนักงานควรทำ คือมองหาความดีของเจ้านาย (ซึ่งบางคนอาจจะมองเห็นเพียงน้อยนิดก็ตาม) เปิดใจให้ว้าง "พยายามเข้าใจอุปนิสัยของเจ้านาย โดยไม่เอามาตรฐานตนเองไปตัดสิน" แล้วนำความดีนั้น ไปเล่าให้เพื่อนฟัง ไปเล่าให้พนักงานบริษํทอื่นฟัง ไปเล่าให้ญาติพี่น้องฟัง ทำเช่นนี้่บ่อยๆ อัคติที่มีต่อเจ้านายก็จะผ่อนคลายไปบ้าง บรรยากาศการทำงานร่วมกันก็จะดีขึ้น อย่าทำตัวเป็นกบเลือกนาย และอย่าลำพองตัวเหมือนอึ่งพองตัวให้ใหญ่เท่าวัว ท้องจะแตกตาย